จังหวัดอุบลฯ เตรียมจัดงานสงกรานต์ไทอุบล แห่ดอกไม้ ไหว้หลวงพ่อเงิน 2568 ซอฟต์พาวเวอร์ของเมืองอุบลฯ สืบสานประเพณีอันดีงามของท้องถิ่นให้คงอยู่คู่ชุมชน
วันที่ 4 เมษายน 2568 ที่วัดปากน้ำ (บุ่งสระพัง) ตำบลกุดลาด อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี องค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด ร่วมกับ ภาคีเครือข่าย ภาครัฐ ภาคเอกชน ประชาชน และ ชาวชุนชน ได้จัดงานแถลงข่าว โครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น "แห่หลวงพ่อเงิน 700 ปี สักการะ มนัสการ สมโภช โสรจสรง หลวงพ่อเงิน" โดยมี เจ้าคุณพระศรีวิสุทธิมุนี รองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ (บุ่งสระพัง) ร่วมด้วย นายปรีดา อุ่นอุดม นายอำเภอเมืองอุบลราชธานี ,นางธนภร พูลเพิ่ม ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานอุบลราชธานี ,นายสุวรรณ บุญจูง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลกุดลาด และ ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันแถลงข่าว
ในงานแถลงข่าว มี สาธิตการทำขันหมากเบ่งของชุมชนบ้านปากน้ำ สาธิตขบวนกลองยาวลายอุบล และขบวนฟ้อนลายบูชาหลวงพ่อเงิน นอกจากนั้นยังมีนิทรรศการแสดงหนังสือบุญผะเหวดสำนวนเทศน์ทำนองอุบลโบราณ และนิทรรศการ 100 ปีชาตกาล พระมงคลธรรมวัฒน์ ผู้ร่วมแถลงข่าวได้ร่วมกันปิดทองฆ้องมงคลที่จะอัญเชิญไปประดิษฐาน ณ อนุสรณ์สถาน 100 ปีชาตกาล พระมงคลธรรมวัฒน์ บริเวณทางลงหาดบุ่งสระพัง
สำหรับงานสงกรานต์ไทอุบล แห่ดอกไม้ ไหว้หลวงพ่อเงิน 700 จะเริ่มในวันที่ 13 เมษายน 2568 เวลา 09.00 น. เป็นพิธีแห่หลวงพ่อเงิน 700 ปี ขึ้นมาจากวัดป่าพระพิฆเณศวร์ ซึ่งเป็นสถานที่ขุดพบหลวงพ่อเงิน ในปีพุทธศักราช 2515 จากการนิมิตของหลวงปู่พระมงคลธรรมวัฒน์ ซึ่งปีนี้จะเป็นปีที่ 53 ของการอัญเชิญขึ้นจากพื้นดิน โดยขบวนแห่หลวงพ่อเงินจะผ่านมาตามถนนริมหาดบุ่งสระพัง และโนนต้นบกใหญ่ สถานที่ก่อสร้างอนุสรณ์สถาน 100 ปีชาตกาลหลวงปู่เจ้าคุณพระมงคลธรรมวัฒน์ แล้วมาบรรจบกับขบวนแห่หลวงพ่อเงินบริเวณโรงเรียนบ้านปากน้ำ จากนั้น จะเคลื่อนขบวนแห่เข้าสู่วัดปากน้ำ
วันที่ 14 เมษายน 2568 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป จะอัญเชิญหลวงพ่อเงินไปแห่ดอกไม้ตามหมู่บ้านต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ตำบลกุดลาด ระหว่างเส้นทางขบวนแห่หลวงพ่อเงินผ่านไป ให้ประชาชนเตรียมดอกไม้และน้ำอบน้ำหอมไว้สรง ตามประเพณีสงกรานต์อุบลแบบโบราณ ซึ่งเมื่อวันสงกรานต์มาถึงเข้า ต้องอัญเชิญพระพุทธรูปลงสรง ประชาชนจะออกไปเก็บดอกไม้มาให้หัววัดสรงน้ำพระ ซึ่งดอกไม้ที่บานหน้าแล้งไม่ค่อยมี นอกจากดอกมันปลาและดอกพะยอมที่บานหน้าแล้งและมีกลิ่นหอม ต้องไปหาเก็บ ตามทุ่ง ตามป่า พอได้ดอกมันปลาหรือพะยอมแล้ว ก็จะแห่เข้าหมู่บ้าน มีฆ้อง กลองตีฟ้อนรำกันมา คนที่ไม่ได้ไปก็จะรอในอยู่ในระหว่างทาง เตรียมน้ำไว้รดสรงให้พระเณรและผู้คนที่ร่วมอยู่ในขบวนแห่ ใครได้ดอกไม้อะไรก็จะฝากให้พระเณรนำไปสรงน้ำพระในวัดด้วย
และวันที่ 15 เมษายน 2568 เวลา 10.00 น. พิธีบำเพ็ญกุศล เนื่องในวาระ 99 ปี ชาตกาล อุทิศถวาย หลวงปู่พระมงคลธรรมวัฒน์ อดีตเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ณ ศาลาปฏิบัติธรรม และ แห่ผะเหวด ( แห่พระเวสสันดรเข้าเมือง ) ในเวลา 15.00 น. เป็นต้นไป
นอกจากนั้น ในวันที่ 21 เมษายน 2568 จะเป็นประเพณีวันเนาว์ ตามแบบอย่างสงกรานต์ดั้งเดิมของชาวอุบลราชธานีซึ่งจะจัดขึ้นบริเวณเจดีย์บุ่งสระพัง หาดบุ่งสระพัง โดยสงกรานต์ในกรุงเทพมหานครจะมีวันไหล ส่วนสงกรานต์ทางอีสานโดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานีจะมีวันเนาว์ ซึ่งเป็นพิธีขอขมาพระสงฆ์ ตามวัดวาอารามต่างๆ จากนั้นก็จะอัญเชิญพระพุทธรูปกลับ